Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

เพลงกล่อมเด็กของไทย (Thai Cradle song)

เพลงกล่อมเด็กของไทย
นอนเสียเถิดลูกจ๋า
หลับตาฟัง(แม่/พ่อ)ร้องเพลงกล่อม   สองมือ(แม่/พ่อ)จะคอยปกป้อง
โอบถนอมรักลูกดั่งดวงใจ  นอนเสียเถิดลูกเอ๋ย
เจ้าเอยจงอย่าร้องไห้         ฝันดี อย่าให้มีโรคภัย
ยอดดวงใจของ(แม่/พ่อ)คือเจ้า(หรือชื่อลูก)เอย ฮื้อ ฮือ ฮือ ฮื้อ ฮือ หื่อ หื่อ ฮือ

แม่นกกาเหว่าเอย--ไข่ให้แม่กาฟัก
แม่กาก็หลงรัก--นึกว่าลูกในอุทรณ์
คาบเอาข้าวมาเผื่อ--คาบเอาเหยื่อมาป้อน
ถนอมไว้ในรังนอน--ปีกยังอ่อนจะสอนบิน
แม่กาพาไปกิน--ที่ปากน้ำพระคงคา
ตีนเจ้าเหยียบสาหร่าย--ปากก็ไซ้หาปลา
กินแล้วก็โผไปจับ--ที่ต้นโพธิ์ทอง
ยังมีนายพรานคนหนึ่ง--เที่ยวเยี่ยมเยียมมองมอง..
ยกปืนขึ้นส่อง--จ้องเอาแม่กาดำ
ตัวหนึ่งว่าจะต้ม--อีกตัวหนึ่งว่าจะยำ
จะกินนางแม่กาดำ--คำวันนี้แลนา

ถ้าหมดมุกเพลงกล่อม ก็ร้องพวกเพลง หิ่งห้อย เรือนแพ จูบ เพลงเก่าๆ สิคะ ภาษาสละสลวย ดนตรีนุ่มๆฟังเพลินๆหลับง่ายเลย เราร้องเพลงเก่าๆและเพลงพวกนี้กล่อมลูกทุกคืน คุณลูกชอบมาก

ความหมายของเพลงกล่อมเด็ก



เพลงกล่อมเด็ก ความหมายชัดเจนอยู่แล้วคือ หมายถึงเพลงที่ใช้ร้องกล่อมให้เด็กนอน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กหลับไวขึ้น และหลับอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง เนื้อร้องจะมีแต่ความอ่อนโยน อ่อนหวาน แสดงความเป็นห่วงเป็นใย ความเอ็นดู อบรมสั่งสอนให้เป็นเด็กดีกตัญญูรู้คุณคน ให้เมตตากรุณาต่อสัตว์ รู้จักความถูกต้อง สิ่งใดควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ โดยมุงหวังให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีทีคุณภาพคือมีความรู้คู่คุณธรรม โดยบทเพลงกล่อมเด็กจะไม่มีการว่า ด่า หรือเปรียบเปรยเด็กไปในทางไม่ดีเลย จะกล่าวแต่สิ่งที่ดีงามทั้งสิ้น บางบทอาจนำชื่อสัตว์มาหลอกเด็กให้หลับตาจะได้นอนหลับได้ไว เช่นบทตุ๊กแกกินตับ บางครั้งก็จะนำเอานิทานพื้นบ้านหรือเรื่องในวรรณคดีมากล่อม
ความแตกต่างของชื่อเพลงกล่อมเด็กในภาคต่างๆของไทย
เพลงกล่อมเด็กนั้นมีอยู่ทั่วโลก สำหรับของไทยนั้นพบมีอยู่ทุกภาคของประเทศ เนื้อหาคล้ายคลึงกัน แต่มีชื่อเรียกต่างกันคือ
ภาคกลาง เรียก เพลงกล่อมเด็ก
ภาคเหนือ เรียก เพลงอื่อ
ภาคอีสาน เรียก เพลงก่อมลูก หรือ เพลงนอนสาเด่อ
ภาคใต้ เรียก เพลงร้องเรือ หรือ เพลงชาน้อง

ลักษณะของเพลงกล่อมเด็ก



โดยทั่วไปแล้วเพลงกล่อมเด็กจะมีลักษณะที่คล้ายๆกันคือ
1.เป็นเพลงที่รับช่วงต่อๆกันมา อาศัยการบอกกล่าว ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จดเป็น
มุขปาฐะ หรือถ่ายทอดด้วยปาก
2.ใช้ภาษาง่ายๆ มีคำสัมผัสคล้องจองกันตลอด ทำให้ง่ายต่อการจดจำและขับร้องกล่อมได้ไพเราะ จึงจัดเป็นประเภทเพลงชาวบ้าน รวมรวบคติและความเชื่อของชาวบ้าน
3.บทร้องมักจะสั้นยิ่งถ้าผู้รับการถ่ายทอดจดจำไม่ได้ เนื้อความก็จะขาดหายไป เพลงจะเหลือเท่าที่จำได้ แต่ถ้าผู้รับการถ่ายทอดมีความสามารถ ก็อาจประดิษฐ์บทร้องให้ยาวขึ้น หรือสละสลวยขึ้นได้
4.ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้แต่ง เพราะอาศัยการสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน
5.จึงไม่สามารถทราบอายุ หรือเวลาที่แต่งเพลงกล่อมเด็กได้
6.เพลงเดียวกันอาจผิดเพี้ยนกันไปบ้าง จากสำนวนภาษาของแต่ละถิ่น การจดจำ ปฏิภาณ ความเข้าใจของผู้กล่อมเด็ก บางครั้งเพลงเดียวกัน คนกล่อมคนเดียวกัน ให้ร้องกล่อม 2 ครั้ง ก็อาจกล่อมไม่เหมือนกัน บางครั้งถ้าผู้กล่อมไม่เข้าใจคำศัพท์ในเนื้อเพลง ก็อาจเปลี่ยนคำใหม่ เพื่อให้เข้าใจความหมาย จึงทำให้เนื้อเพลงผิดเพี้ยนกันไป

กำเนิดของเพลงกล่อมเด็ก
เราไม่สามารถสืบค้นได้ว่า เพลงกล่อมเด็กมีหรือเกิดขึ้นในสังคมมานานเท่าใด แต่สามารถพบเพลงกล่อมเด็กว่ามีอยู่ทั่วไป ทุกชาติทุกภาษา จนอาจเรียกได้ว่า เพลงกล่อมเด็กเป็นของสากล หรือวัฒนธรรมสากล
แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า เพลงกล่อมเด็ก เป็นผลจากการเลี้ยงดูเด็กแต่ครั้งโบราณ โดยเด็กจะเป็นอะไรในครอบครัว ที่ทำให้ครอบครัวมีชีวิตชีวา และเด็กจะได้รับความรักความห่วงใย และถือเป็นทรัพย์อันมีค่ายิ่งในครอบครัว สังคมไทยสมัยโบราณ จะมีผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ด้วยเสมอ และจะช่วยดูแลลุกหลาน เพราะท่านจะมีเวลาว่างมากที่จะมาเล่นดูแลให้ความอบอุ่น และหาบทเพลงมาขับกล่อม เพื่อช่วยให้ลูกหลานหลับง่ายและหลับอย่างเป็นสุข เพลงกล่อมเด็กจึงมีเนื้อหาที่แสดงความห่วงใยแสดงความรักใคร่ลูกหลานอย่างชัดเจน เพลงกล่อมเด็กจึงเป็นเพลงชาวบ้านที่พัฒนามาจากการเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอน ต่อมาจึงแทรกทำนองเสนาะเพื่อความไพเราะเพลิดเพลิน ในการสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมแก่การนอนหลับ
ประเภทของเพลงกล่อมเด็ก
สามารถแบ่งเพลงกล่อมเด็กออกตามลักษณ์ของเนื้อร้องได้ดังนี้คือ
1.สอนขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี ความเชื่อถือ ค่านิยม ข้อห้าม
2.แสดงถึงภาพสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ของชุมชนในสมัยก่อน
3.เล่าเรื่องในวรรณคดี นิยาย นิทาน
4.แสดงความรัก ความห่วงใย การปลอบโยน ให้รางวัล ขู่ หรือขอสิ่งต่างๆให้เด็ก
5.อบรมสั่งสอน ให้คติสอนใจ ให้หลักธรรมหรือจริยธรรม
6.สะท้อนความภาคภูมิใจในท้องถิ่น สภาพธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์
7.อื่นๆ

ประโยชน์ของเพลงกล่อมเด็ก
.ช่วยให้เด็กหลับง่าย ทำให้ไม่รบกวนพ่อแม่หรือผู้ปกครอง จึงทำให้มีเวลาทำงานอื่นมากขึ้น
2.ช่วยให้เด็กหลับอย่างเป็นสุข
3.ช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งขณะนอนหลับ...
4.ทำให้เด็กได้ฟังสิ่งที่ไพเราะดีงาม
5.ทำให้เด็กมีความเจริญทางด้านอารมณ์ที่ดีงาม
6.ทำให้เด็กมีความเจริญทางด้านจิตใจที่ดีงาม
7.ช่วยให้เด็กได้พักผ่อนเต็มที่ จึงทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายดีขึ้น..
8.ทำให้เด็กมีความเจริญทางด้านสังคม สมาคมกับเพื่อนฝูงได้ดี
9.ทำให้เด็กเพลิน มีจินตนาการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม
10.ทำให้เด็กมีความประทับใจ ในเสียงเพลงและบทเพลง
11.ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทางภาษา ได้รับการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับจริยธรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เหตุการณ์ชีวิตประจำวัน ฯลฯ ตามเนื้อหาของเพลงกล่อมเด็กนั้นๆ

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen

รายการบล็อกของฉัน