เสียงเพลงสามารถชวนให้เกิดอารมณ์ เศร้า หรือทำให้มีความปลาบปลื้มยินดี อีกทั้งทำให้หวาดกลัวจนขนลุกตั้งชันเสียวสันหลังขึ้นมาก็ได้ สิ่งนี้เป็นขึ้นได้อย่างไร นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพื่อไขปริศนาว่าจากคลื่นแรงเหวี่ยงในธรรมชาตินั้น มันเปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างไร แล้วปริศนาของนักคีตกวีทั้งหลายมีความเป็นมาอย่างไร เพราะดนตรีนี่หรือเปล่า ที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ดนตรีเป็นศิลปะที่แปลกที่สุดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อเทียบกับการวาดภาพ การแต่งกลอน การแกะสลักรูปปั้น เสียงสอดคล้องกันเพียงเสียงเดียว หรือทำนองเดี่ยวเฉยๆ ก็ยังไม่มีความหมาย
ในตัวแกนของดนตรีนั้น คือคณิตศาสตร์ล้วน เป็นแรงแกว่งของลมที่ถูกคำนวณด้วยตัวเลข-ซึ่งความถี่ห่างของแรงเหวี่ยงใน อากาศนั้นๆ เข้าไปทับซ้อนกัน แล้วความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งก็บังเกิดขึ้น-จากคณิตศาสตร์กลายมาเป็นความ รู้สึกทางอารมณ์ ดนตรีสามารถกระตุ้นจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง ให้เกิดการคิดถึงอาลัย หรือรู้สึกถึงความมีชัยชนะ
แล้วเพราะเหตุไรจึงเกิดมีความสัมพันธ์กันระหว่างตัวเลขกับเสียง มนุษย์เริ่มร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่เมื่อใด แล้วทำไมจึงต้องมีการร้องเพลง
ด้วยเครื่องมืออันทันสมัยนักวิทยาศาสตร์หลายแขนง เช่น นักจิตวิทยา นักประสาทวิทยา นักคำนวณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง นักวิชาการด้านดนตรีพากันสืบหาปรากฏการณ์ที่ว่านี้อย่างถึงรากถึงบึง ยิ่งค้นก็ยิ่งพบหลักฐานว่าดนตรีนั้นผูกพันอยู่กับชีวิตมนุษย์มานานนักหนา ในสมัยหินมีการนั่งล้อมกองไฟ และร้องเพลง พร้อมกับเต้นไปรอบๆ กองไฟ ในถ้ำที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้พบขลุ่ยทำจากกระดูกหงส์ที่เจาะไว้ 3 รู คาดว่าจะมีอายุราว 35,000 ปี
เสียงที่เกิดขึ้นจะโดยธรรมชาติ หรือจากเครื่องดนตรีก็ตามเป็นขึ้นเนื่องจากมีการสั่นไหวหลายๆ ครั้ง แล้วแกว่งทับซ้อนกันไปมา ดนตรีกำเนิดมาแต่ธรรมชาติที่ผันแปรมาเป็นวัฒนธรรม เริ่มจากเสียงกระทบของท่อนไม้ที่กลวง เสียงหวีดคล้ายการผิวปากจากลมพัด เสียงกระแสน้ำไหล ใบไม้สีกันกรอบแกรบ เสียงเหยียบทรายดังกรอดๆ เสียงผึ้งพึมพำ หรือแม้แต่แค่ก้อนหินกลิ้งตกลงมาก็เป็นต้นเหตุให้มนุษย์รับรู้เรื่องดนตรี และนำไปตีความ
ทำนองกับจังหวะนั้นทำปฏิกิริยาต่อระบบสมองตรงส่วนที่รับรู้เรื่องเศร้า เรื่องยินดี ความใฝ่ฝัน ความปรารถนาต่างๆ ดังนั้น การชมภาพยนตร์ที่ไร้เสียงเพลงประกอบ จะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกให้ผู้ชมได้เลย พูดได้ว่าดนตรีคือผู้เปิดประตูให้เกิดความรู้สึกทางจิตใจ
มีนักประสาทวิทยาหลายคนทั้งชาวเยอรมัน (Stefan Koelsch) และชาวแคนาดา (Anne Blood) ทดลองด้วยการวัดคลื่นสมองของพวกอาสาสมัครโดยใช้สายเคเบิลเป็นประจุไฟฟ้าที่ ติดเชื่อมอยู่กับผ้ายางสวมหัวคล้ายหมวกอาบน้ำในหลายๆ จุดรอบศีรษะเพื่อจะดูว่าเสียงเพลงประเภทใดที่เจ้าตัวบอกว่าชอบ หรือไม่ชอบจะเข้าไปทำปฏิกิริยาต่อสมองส่วนไหนบ้าง และนาง Blood ก็สรุปออกมาว่า
"เพลงที่เจ้าตัวว่าไพเราะนั้น ขมับซ้ายและสมองส่วนหน้าจะทำงานแล้วเข้าไปกระตุ้นที่สมองส่วนกลาง ซึ่งจุดนั้นทำให้คนเรามีความสุข แล้วสมองบริเวณเดียวกันนี้แหละที่ถูกกระตุ้นด้วยเมื่อเวลาเรารับประทานอาหาร ร่วมเพศ หรือเสพยา ในทางตรงกันข้ามเมื่อให้ฟังเพลงที่บอกว่าไม่ชอบ หรือฟังแล้วมีอาการสยองแบบระทึกใจ การทำงานของเส้นประสาทจะยิงไปที่ขมับขวา ที่น่าสนใจคือสมองแถบนี้ก็ทำงานด้วยเมื่อคนเราถูกยั่วยวนให้โกรธ"
ส่วนนักค้นคว้าด้านวิวัฒนาการชาวญี่ปุ่น ฮาจิเมะ ฟูกุยวิ เคราะห์ว่า "การร้องรำทำเพลงร่วมกันในกลุ่มสุภาพบุรุษทำให้ความเข้มข้นในฮอร์โมนก้าว ร้าว (Testosterone) ลดลง และถ้าร้องร่วมกันทั้ง 2 เพศจะเกิดการหลั่งสารคอร์ติซอน (Cortisone) ซึ่งเป็นการลดความเครียด"
เป็นความสามารถของประสาทหู เพราะข้างในหูคนเรามีเซลล์ประสาทเป็นเส้นขน 5,000 เส้น ซึ่งทำหน้าที่แปรสภาพให้เกิดพลังคลื่นเสียงเป็นไฟฟ้าในกระแสประสาท การบันทึกเสียงผ่านเยื่อแก้วหูเกิดขึ้นโดยความกดของอากาศ (โมเลกุลอากาศเล็กจี๊ดเดียว) ที่แกว่งไปมา พอเสียงเข้าไปในหูแล้วยังมีการขยายต่อโดยให้เสียงผ่านเข้ากระดูกข้อต่อในหู แล้วมีแผ่นบางๆ รองรับที่จะส่งต่อไปยังสารเหลวที่อยู่ในส่วนลึก
นั่นคือกระบวนการทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกทางใจจนมนุษย์เข้าไปสัมผัสกับมิติอื่นได้
นักค้นคว้าหลายคนยังสงสัยอีกว่าธรรมชาติให้มีดนตรีไว้เร้าอารมณ์ซึ่งเป็น ระบบที่ร่างกายจะให้รางวัลตนเอง อย่างนั้นหรือ บางรายวิเคราะห์ว่าน่าจะเกี่ยวกับการหาคู่เพราะการร้องเพลงโดยเฉพาะในสัตว์ เช่น นก หรือแมลงส่งเสียงร้องเพื่อกระตุ้นให้เพศตรงข้ามมาผสมพันธุ์
ฝ่ายนาย David Huron ชาวอเมริกันนักวิจัยด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอกล่าวว่า "ดนตรีน่าจะเกิดขึ้นเพื่อให้คนอยู่รวมกลุ่มกัน เพราะมนุษย์ต้องการความสัมพันธภาพด้านสังคมเป็นอย่างยิ่ง งานหลายๆ อย่างที่ต้องการกำลังใจ ต้องการระดมคนหลายๆ คนมาร่วมมือกัน เช่น นายพรานจะออกไปล่าสัตว์ เหล่าทหารจะออกไปสู้รบกับข้าศึก ชาวนาเก็บเกี่ยวผลิตผล สัตรีรวมกลุ่มกันประดิษฐ์งานหัตกรรม ฯลฯ"
ทฤษฎีอันเดียวกันนี้ที่ว่าดนตรีเป็นตัวเชื่อมประสานของสังคมนั้น นักค้นคว้าด้านวิวัฒนาการชาวญี่ปุ่น นายฮาจิเมะ ฟูกุย เสริมว่า
"ยิ่งมีกลุ่มมนุษย์เพิ่มมากขึ้น การไกล่เกลี่ยความตรึงเครียดในสังคม และทางเพศก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นด้วย และดนตรีนี่แหละ คือทางออก"
เมื่อนักวิชาการทั้งหลายเห็นร่องรอยการสร้างของธรรมชาติที่ว่านี้ ก็เชื่อแน่ว่าคลื่นเสียงดนตรีที่เกิดจากการแกว่งไปมาของลม (หรือโมเลกุลในอากาศ) ตามตัวเลขอันซับซ้อน แล้วเข้ามากระทบกับเส้นประสาทหูจนเกิดกระบวนการไปกระตุ้นความรู้สึกทาง อารมณ์ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ในสมองมนุษย์น่าจะต้องมีการวางรากฐานทางดนตรีไว้อยู่ก่อน แล้ว
ดังนั้น เด็กตัวเล็กๆ จึงเป็นเป้าในการทดลองเพื่อ การศึกษาในเรื่องนี้ เพราะในหัวเด็กนั้นเขาถือว่ายังไม่ทันมีสีสันของวัฒนธรรมใดๆ เข้าไปย้อม
จิตแพทย์หญิงชาวคานาดา Sandra Drehub ได้ทดสอบกับเด็กตัวน้อยๆ โดยจัดให้คุณหนูๆ เข้าไปอยู่ในห้องทดลองที่มีของเล่นน่าเพลิดเพลินสารพัดชนิด และมีลำโพงขยายเสียงอยู่ในนั้นด้วยเพื่อทำการทดสอบค้นหารากฐานแห่งดนตรีใน สมองเด็ก
การทดลองของแพทย์หญิงที่ว่านี้ก็ใช้วิธีง่ายๆ คือเปิดเพลงเด็กในทำนองเดี่ยวเรียบๆ สำหรับให้เด็กเล็กๆ ที่เพิ่งจะเริ่มหัดพูดฟัง แล้วลองแอบใส่ทำนองอื่นที่มีเสียงเพี้ยนแทรกเข้าไปเป็นระยะๆ โดยทิ้งช่วงห่างบ้าง ถี่บ้าง
แล้วแพทย์ผู้ทำการทดลองคนนี้ก็ต้องพบกับความน่าพิศวงยิ่ง เพราะมนุษย์ตัวน้อยๆ ที่กำลังเพลินกับของเล่นอยู่นั้นต้องชะงัก และหันหัวไปทางลำโพงทุกครั้งเมื่อได้ยินทำนองแปลกปลอม ซึ่งไม่เข้ากับจังหวะเพลงที่เปิดอยู่เลย
คำถามที่ว่าธรรมชาติได้ฝังหลักสูตรความสอดคล้องในการประสานเสียงทั้งหลายไว้ ในสมองมนุษย์ แล้วมีการถ่ายทอดยีนอันนี้ไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่นั้น หากจะเอาคำตอบนี้คงต้องไปหาอาสาสมัครที่แทบจะไม่มีโอกาสได้ยินเสียงเพลงเลย มาทดสอบ ซึ่งคงหาไม่พบแน่
เพราะเดี๋ยวนี้เป็นยุคไฮเทคอิทธิพลของดนตรีได้แพร่ขยายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ไปที่ไหนก็มีเสียงเพลงกระจายไปทั่วโลก เช่น ในเรือบินในรถยนต์ ในครัว ตามสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟ
แม้แต่ในกระต๊อบของหมู่บ้านเล็กๆ ประเทศปาปัวนิวกินีแสนห่างไกลความเจริญก็ยังมีเสียงเพลงของ Robbie Williams แว่วมาตามสายลม
พูดถึงอิทธิพลของเสียงเพลงแล้ว จะเห็นบุคคลในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ใช้เพลงเป็นที่ปลอบขวัญ และกำลังใจมนุษย์ เช่น ตอนที่กำแพงเมืองเบอร์ลินถูกพังทำลายเมื่อ พ.ศ.2532 ผู้ใหญ่ผู้โตทางการเมืองพากันร้องเพลงชาติอย่างกล้าหาญ
หรือในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 ในตอนค่ำหลังจากตึก World Trade ในเมืองนิวยอร์กถล่ม ผู้แทนราษฎรรวมกลุ่ม และพากันร้องเพลง "พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพระพรอเมริกา" (God bless America) เพื่อลดความชอกช้ำทางจิตใจ
ยิ่งในโบสถ์ การนมัสการไม่เคยเลยสักครั้งเดียวที่จะปราศจากการร้องเพลงถวายเกียตรพระผู้ เป็นเจ้า นักค้นคว้าชาวอังกฤษ นาย Ian Cross จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวเสริมว่า
"การมีเพลงเปรียบเสมือนมีสนามที่เล่นในจิตใต้สำนึก เพราะหัวใจของดนตรีนั้น ให้อิสระในการไปตีความ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ไปตามความนึกคิด และฝึกด้านจินตนาการ นั่นคือเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการจะพัฒนาสมอง"
*บทความทางวิทยาศาสตร์จากในนิตยสารเยอรมัน "เดียร์สปีเกิ้ล" (Der Spiegel) ฉบับที่ 31/28 ก.ค.2546 *
Philip Bethge-เขียน ดวงดี คงธัญญะงาม-แปล
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=0415261147&srcday=2004/11/26&search=no