Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

Antonio Vivaldi

อันโตนีโอ วีวัลดี (Antonio Vivaldi) เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2221 (ค.ศ. 1678) 
ที่เมืองเวนีส ประเทศอิตาลี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2284 (ค.ศ. 1741) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วีวัลดีเป็นคีตกวี ชาวอิตาลี ผู้เป็นหนึ่งในคีตกวีสำคัญในสมัยบาโรก

บิดาของเขานอกจากจะเป็นช่างตัดผมแล้ว ยังเป็นนักไวโอลินที่มีความสามารถอีกด้วย บิดาของวิวัลดิได้ช่วยให้เขาเริ่มต้นอาชีพนักดนตรี และให้เขาได้เข้าร่วมวงออร์เคสตร้าแห่ง คาปเปลล่า ดิ ซาน มาร์โค ที่ซึ่งเขารับบทบาทนักไวโอลินที่ผู้ชมโปรดปราน

ในปี พ.ศ. 2246(ค.ศ. 1703) เขาได้กลายเป็นบาทหลวง แต่ก็เป็นครูสอนไวโอลินที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ออสปิดาเล เด ลา ปีเอตา ไปพร้อมกัน ที่นั่นเขาได้สอนเด็กกำพร้าผู้หญิงให้ตั้งวงออเคสตร้าหญิงล้วนขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นวงออร์เคสตร้าที่มีเอกลักษณ์ที่สุดวงหนึ่งในสมัยนั้น จนสามารถดึงดูดเศรษฐีชาวต่างชาติมาชมการแสดงได้มาก อิทธิพลของวิวัลดิที่มีต่อดนตรีตะวันตกนั้นมีมากมาย เขาเป็นผู้สร้างคอนแชร์โต้แบบที่มีนักเดี่ยวเครื่องดนตรี และเป็นต้นแบบให้คีตกวีรุ่นหลังนิยมทำตาม ทั้งในสมัยคลาสสิก และ โรแมนติก โยฮันน์ เซบาสเทียน บาค ที่ได้รู้จักกับวีวัลดีชื่นชมเขามากจนกระทั่งได้ยืมหัวข้อที่วิวัลดิกล่าวถึงไว้หลายหัวข้อมาถ่ายทอด หรือปรับเปลี่ยนใหม่...

ประวัติผู้ประพันธ์เพลง(ข้อมูลเพิ่มเติม)
วิวัลดี (Antonio Vivaldi,1678-1741)     
ผู้ประพันธ์เพลงและนักไวโอลินชาวอิตาเลียนเกิดปี 1678 ที่เมืองเวนิสอันลือชื่อ เป็นลูกของนักไวโอลินประจำโบสถ์เซ็นต์มาร์ค (St.Mark’s) ในเมืองเวนิส วิวัลดีได้รับการฝึกฝนเบื้องต้นทางด้านดนตรีจากพ่อ จากนั้นได้เรียนกับจีโอวานนี เลเกร็นซี (Giovanni Legrenzi) อาจารย์ดนตรีผู้มีชื่อเสียง วิวัลดีเป็นพระซึ่งรับผิดชอบการสอนดนตรีให้สถานเลี้ยงเด็กหญิงกำพร้าแห่งกรุงเวนิช
จากกิริยาท่าทางความใจบุญสุนทานและผมสีแดงตลอดจนการแต่งเนื้อแต่งตัวสีสันก็กระเดียดไปทางพระของเขานั่นเองทำให้คนทั่วไปเรียกเขาว่า II prete rosso” (the red priest) หรือเป็นภาษาไทยเรียกว่า “ พระแดง” ( ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :149)
เพลงที่วิวัลดีแต่งโดยมากมักเป็นเพลงสำหรับร้องและเล่นด้วยเครื่องดนตรีประเภทสตริง (String) ซึ่งมีผู้ชอบฟังมาก และมีนักแต่งเพลงในศตวรรษที่ 20 ของอิตาลีคนหนึ่ง ชื่อ คาเซลลา (Casella) ได้เขียนยกย่องงานของวิวัลดีไว้ว่า “ เป็นผู้สร้างงานขึ้นมาด้วยความประณีตบรรจงอย่างยิ่ง สามารถทำให้ผู้ฟังปล่อยอารมณ์เคลิบเคลิ้มตามเนื้อและทำนองเพลงได้โดยไม่รู้ตัว”
งานของวิวัลดีมีมากมายไม่แพ้คีตกวีคนอื่น ๆ ปัจจุบันนี้งานของเขายังมีต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดเมืองเดรสเดน (Dresden Library) อย่างสมบูรณ์ วิวัลดีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1741 ที่เมืองเวียนนา ออสเตรียอายุได้ 66 ปี
โดยไม่มีตำราหรือเอกสารใด ๆ กล่าวถึงการสมรสจึงเชื่อว่าวีวัลดีไม่มีภรรยาไม่มีบุตร อยู่ตัวคนเดียวในวัยชราและจากโลกนี้ไปในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง

บทประพันธ์ ฤดูทั้งสี่ (The Four Seasons) จัดเป็นเพลงคอนแชร์โต้สำหรับไวโอลินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ ANtonio Vivaldi เป็นผลงานลำดับที่ 8 (Opus 8-1725)
ที่เขียนขึ้นตามคำกลอน Sonnet....

บทประพันธ์ฤดูทั้งสี่ (The Four Seasons) ของดุริยกวีชาวอิตาเลี่ยน Vivaldi นั้นมีความไพเราะและเป็นเพลงคลาสสิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นชั้นดีเยี่ยม มีด้วยกัน 4 บท 4 ฤดูกาล แต่ละฤดูกาลจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ คือ

1. ฤดูใบไม้ผลิ Spring (La Primavera)
- Allegro เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง เสียงนก เสียงแมลงแสดงถึงความตื่นเต้น ดีใจ ร่าเริง สลับด้วยเสียงฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ให้เห็นถึงการตื่นตัวของธรรมชาติโดยมีเสียงน้ำไหลเอื่อยๆ ในลำธาร ประกอบชั่วขณะหนึ่งก็มีพายุมาทำลายความเงียบสงบนี้ หลังจากนั้นไม่นานพายุก็ผ่านพ้นไปและนกก็เริ่มร้องเพลงอีกครั้ง
- Largo เสียงเพลงบรรยายให้นึกถึงภาพดอกไม้บาน คนเลี้ยงแกะกำลังนอนหลับในบ้าน และได้ยินเสียงเห่าของสุนัขผู้ซื่อสัตย์ของเขา ที่เฝ้าบ้านและคอยระวังฝูงแกะ
- Allegro (Danza pastorale) เสียงแหบของปี่สก๊อต การร้องรำทำเพลงของคนเลี้ยงแกะชายและหญิง เพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้

2. ฤดูร้อน Summer (L’ estate)
- Allegro non molto เสียงเพลงเริ่มต้นด้วยความอิดโรยและอ่อนล้าของฤดูกาล ความร้อนใต้แสงอาทิตย์ ต่อมาจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยเสียงนกคุกคู (นกกาเหว่า) ตามมาด้วยเสียงนกเขา และเสียงลมตะวันตก ลมเหนือที่พัดโชย ซึ่งถูกขัดขึ้นมาด้วยเสียงที่รุนแรง กระแสลมได้อ่อนตัวลงและเราได้ยินเสียงคร่ำครวญของคนเลี้ยงแกะ
- Adagio-Presto-Adagio ในช่วงจังหวะช้านี้นำมาซึ่งความสงบแต่ก็มีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่าอันน่ากลัวและคลอเคล้ากับเสียงอื้ออึงของเหล่าแมลงต่าง ๆ มากมายทั้งมดและตัวหนอน
- Presto (Tempo impettuoso d’ estate) ความกลัวเริ่มจางหายไป ข้าวโพดพืชผักต่าง ๆ งอกงาม ลีลาในช่วงนี้นำมาซึ่งพายุฤดูร้อนที่กำลังจะพัดมาถึง

3. ฤดูใบไม้ร่วง Autumn (L’autunno)
- Allegro (Ballo, e canto de’ villanelli) เสียงเพลงบรรยายด้วยเพลงเต้นรำชนบท เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผลที่สุกใหม่ มีการกินเลี้ยงกันอย่างมากมาย การเต้นรำร้องเพลงของขี้เมา ความสุขจบลงจนหลับ
- Adagio molto (Ubriachi dormienti) ทุกคนสนุกสนาน ร้องเพลงเต้นรำจนหมดแรงและผลอยหลับไปด้วยความสุข
- Allegro (La caccia) การออกล่าสัตว์ยามรุ่งอรุณ เสียงแตรจากคนล่าสัตว์ เสียงเห่าของสุนัขของคนล่าสัตว์และเสียงปืน เสียงของแนวไวโอลินในช่วงเดี่ยวนี้ใช้เป็นตัวแทนของสัตว์ที่ถูกล่า ซึ่งวิ่งหนีด้วยความกลัวและตายลงด้วยความเหนื่อยอ่อนจากความตื่นตระหนก

4. ฤดูหนาว Winter (L’ inverno)
- Allegro non molto เปิดแนวทำนองด้วยความหนาวเย็นยะเยือกของสายลมแห่งฤดูหนาวมาเยือน หิมะจับตัวเป็นน้ำแข็ง ลมหนาวพัดผ่านหนาวจากเท้าสู่ศีรษะ
- Largo บรรยายบรรยากาศอันอบอุ่นรอบเตาผิงที่อยู่กันอย่างสงบสุข มองไปยังภายนอกก็ยังคงมีสายฝนตกอยู่อย่างไม่ขาดสาย
- Allegro ลีลาของเพลงในช่วงนี้แสดงถึงความร่าเริงเบิกบานและความกลัวอันตรายจากการเดินฝ่าไปบนน้ำแข็งด้วยความระมัดระวังกลัวลื่นหกล้ม ก็ยังพลาดล้มลง แต่ก็ได้พยายามลุกขึ้นเดินใหม่ได้ และสามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งน้ำแข็งแตก เราได้ยินเสียงลมมาจากทุกทิศทุกทาง โหมกระหน่ำ ความสว่างจากหิมะสะท้อนท้องฟ้านำมาซึ่งความสุขในฤดูหนาวนี้...

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen

รายการบล็อกของฉัน