ดื่มเหล้าเคล้าดนตรี วิถีมนุษย์โบราณกว่า 9,000 ปีบนซีกโลกตะวันออก
…..คนปัจจุบันอาจติดภาพมนุษย์ยุคหินเป็นคนป่าไร้อารยะไม่ซับซ้อน แต่ข้อมูลหลักฐานเหล่านี้อาจจะทำให้เรามีมุมมองใหม่เกี่ยวกับมนุษย์ยุคหินก็เป็นได้
…..สุนทรียภาพทางดนตรีของมนุษย์ก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อใดยังไม่มีใครรู้ อาจเป็นสัญชาติญาณของบรรพบุรุษที่หยิบฉวยเอาสุ้มเสียงต่างๆจากธรรมชาติมาร้อยเรียงกันเพื่อสร้างความบันเทิงหรือเซ่นสรวงบูชาภูตผี-เทพเจ้า เครื่องดนตรีเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งซึ่งมนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาด้วยภูมิปัญญาขั้นสูง และปรากฏอยู่ควบคู่ไปพร้อมๆกับพัฒนาการความเจริญทางวัฒนธรรมมนุษย์ตั้งแต่ช่วงเวลาแรกเริ่ม เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้ อาจเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้เราเข้าใกล้กับคำตอบของคำถามที่ว่าสุนทรียภาพทางดนตรีของมนุษย์ในอดีตนั้นเป็นอย่างไรได้มากยิ่งขึ้น
การค้นพบเครื่องดนตรีโบราณประเภทเครื่องเป่า “ขลุ่ย” ร่วมกับศพผู้ตายในหลุม วัฒนธรรมเจี่ยหูของจีน
…..ช่วงปลายปีที่แล้ว (2 พฤศจิกายน 2556) มีข่าวการขุดค้นพบ “ขลุ่ยโบราณ” 3 เลา ทำจากกระดูกของนกกระเรียนมงกุฎแดง (red-crowned crane) ในหลุมฝังศพของมนุษย์สมัยหินใหม่ (Neolithic) ภายในแหล่งโบราณคดีเจี่ยหู (Jiahu) มณฑลเหอหนาน (Henan) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ซึ่งนักโบราณคดีจีนได้กำหนดอายุเปรียบเทียบ (Relative Age) กับขลุ่ยโบราณที่ขุดค้นพบก่อนหน้านี้(ในเดือนตุลาคม)จากแหล่งโบราณคดีเดียวกันพบว่าเป็นวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมของมนุษย์สมัยหินใหม่อายุกว่า 9,000 ปีมาแล้ว
ขลุ่ยกระดูกที่เคยพบมาก่อนหน้านี้
…..ขลุ่ยโบราณที่พบนี้ เป็นเครื่องดนตรีที่มีระบบเสียงในตัวเอง (Heptatonic) ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมาบนโลก ขลุ่ยที่ขุดพบมีสเกล 5 รู และ 7 รู ขลุ่ยชิ้นสมบูรณ์ที่สุดมีความยาว 20 ซม.โดยประมาณมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.1 ซม. บางชิ้นยังสามารถเล่นได้ !!! ซึ่งการปรากฏของขลุ่ยโบราณเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เมื่อ 9,000 ปีที่แล้วมีภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เครื่องดนตรีและมีระบบเสียงเกิดขึ้นแล้ว (ก่อนหน้านั้นมนุษย์อาจรู้จักเล่นดนตรีในลักษณะของการเคาะหรือตี แต่ยังไม่พบหลักฐานการมีเครื่องดนตรีที่มีระบบเสียงเช่นขลุ่ยมาก่อน) ในขณะที่ “แคน” เครื่องดนตรีโบราณยุคแรกเริ่มอารยธรรมกว่า 3,000 ปีที่มีระบบเสียงในตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราก็เป็นเครื่องเป่าเช่นเดียวกัน จนน่าคิดว่าหรือเครื่องดนตรีประเภทเป่าจะเป็นเครื่องมือประเภทแรกที่มีระบบเสียงในตัวเองก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นเครื่องตี ดีดและสี
หลายคนเป่าแคนบนกลองมโหระทึก แสดงให้เห็นภาพแคนที่มีหลายปล้องกำเนิดเสียง
…..นักโบราณคดีตีความหลักฐานที่พบว่าหน้าที่โดยตรงของขลุ่ย คือสร้างเสียงดนตรี การพบร่วมในหลุมฝังศพเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นของอุทิศให้กับผู้ตายด้วย ความสำคัญของขลุ่ยอาจเป็นได้ทั้งเครื่องดนตรีใช้เล่นเพื่อความบันเทิงในชีวิตประจำวันหรือใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ อย่างไรก็ดี ข้อมูลหนึ่งที่เราได้จากการค้นพบนี้ก็คือ มนุษย์ในวัฒนธรรมเจี่ยหูเมื่อกว่า 9,000 ปีที่แล้ว รู้จักระบบเสียงและมีภูมิปัญญาในการผลิตเครื่องดนตรีประเภทเป่าไว้ใช้งานเป็นอย่างน้อย
(สันนิษฐานว่าน่าจะมีภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เครื่องตีหรือเคาะจังหวะไว้เป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว)
หลุมขุดค้นภายในแหล่งโบราณคดีเจี่ยหู มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน
…..สำหรับแหล่งโบราณคดีเจี่ยหู ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีมาแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้งในรอบ 30ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีในแต่ละครั้งเป็นเหมือนตัวต่อจิ๊กซอว์ที่ค่อยๆเผยให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ยุคหินใหม่เมื่อ 9,000 ปีก่อน ซึ่งผลการค้นพบครั้งล่าสุดที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ก็คือข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามนุษย์เรารู้จักเล่นดนตรีมาไม่น้อยกว่า 9,000 ปีมาแล้ว
“ในขณะที่ทางตะวันออกกลางวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติสได้เติบโตและพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นอู่อารยธรรมแรกเริ่มของมนุษย์ ในเอเชียตะวันออกก็มีวัฒนธรรมเจี่ยหูที่มีพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมไล่เลี่ยกันอยู่ในเวลาเดียวกัน” ศาสตราจารย์จางจูสง (Professor Zhangjuzhong) ผู้ควบคุมการขุดค้นกล่าว
…..ไม่เพียงแต่หลักฐานด้านดนตรี มนุษย์โบราณที่แหล่งโบราณคดีเจี่ยหูแห่งนี้ยังมีความสามารถในการ “หมักเครื่องดื่ม” สูตรเก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย (the world’s earliest liquor)
ภาชนะดินเผาที่พบจากแหล่งโบราณคดีเจี่ยหู
…..นักโบราณคดีรู้ได้จากการขุดพบภาชนะดินเผาประเภทไหที่กำหนดอายุได้ในช่วงหินใหม่ตอนต้น (Early Neolithic jars, Patrick McGovern 2005) เมื่อได้ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ภายในภาชนะพบว่ามีร่องรอยสารประกอบของน้ำหมักประเภทหนึ่งมีฤทธิ์มึนเมาทำมาจากน้ำผึ้ง ข้าว และองุ่นป่า (Patrick McGovern 2005) แทรกอยู่ในรูพรุนของเนื้อภาชนะ
สารประกอบที่พบในไหโบราณชิ้นนี้ คือร่องรอยหลักฐานของ “เบียร์” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก(เท่าที่เคยพบมา) กำหนดอายุได้ ca. 7000-6600 B.C. หรือประมาณ 9,000 ปีมาแล้ว
…..ใครจะไปรู้ว่ามนุษย์เรารู้จักหมักเบียร์ไว้ดื่มกินมาตั้งแต่ 9,000 ปีที่แล้ว ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือปัจจุบันมีคนพยายามนำรสชาติของมันกลับ
มาอีกซะด้วย ผลิตภัณฑ์ชาโต้เจี่ยหู เบียร์โบราณ 9,000 ปี
…..Chateau Jiahu เบียร์หมักที่ใช้วัตถุดิบพื้นฐานตามข้อมูลจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเจี่ยหู ผลผลิตจากงานโบราณคดีว่าด้วยรสชาติของอดีตที่น่าสนใจสุดๆ
…..ในประเด็นบริบทของหลักฐาน ไหใส่เบียร์นี้พบอยู่ในหลุมศพของผู้ตายซึ่งเป็นของอุทิศเช่นเดียวกับขลุ่ยกระดูก นี่อาจสะท้อนภาพของมนุษย์โบราณที่มากกว่าการล่าสัตว์หาของป่าเพื่อดำรงชีพเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสุนทรียภาพในการดำรงชีวิตอื่นๆ เช่นดนตรี พิธีกรรม และภูมิปัญญาในการแสวงหาความสุขให้กับชีวิตและจิตใจด้วย
“ผู้คนในวัฒนธรรมเจี่ยหู ไม่ได้มีแค่นักล่า ชาวประมงหรือช่างฝีมือเท่านั้น แต่ยังมีศิลปินนักดนตรีรวมอยู่ด้วย” ศาสตราจารย์จางจูสง (Professor Zhangjuzhong) จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีนกล่าว
“ผู้คนในวัฒนธรรมเจี่ยหู ไม่ได้มีแค่นักล่า ชาวประมงหรือช่างฝีมือเท่านั้น แต่ยังมีศิลปินนักดนตรีรวมอยู่ด้วย” ศาสตราจารย์จางจูสง (Professor Zhangjuzhong) จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีนกล่าว
…..ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีเจี่ยหู เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ของจีน เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีตเมื่อกว่า 9,000 ปีที่แล้ว เราได้ทราบว่ามนุษย์โบราณในพื้นที่แห่งนี้ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์แบบสังคมดั้งเดิม(primitive) แต่ก็รู้จักที่จะสร้างสรรค์เครื่องดนตรีและมีภูมิปัญญาในการ “หมักเบียร์” จนน่าคิดว่าในเวลาว่างจากกิจกรรมอื่นๆ การดื่มเหล้าเคล้าดนตรีไปพลางๆอาจเป็นกิจกรรมหนึ่งในชีวิตของพวกเขาก็เป็นได้ ที่สำคัญมนุษย์โบราณเหล่านี้รู้จักที่จะดื่มและเล่นดนตรีเป็นก่อนที่จะมาเขียนหนังสือกันเสียอีก ช่างเป็นวิสัยของศิลปินกันเสียจริงๆ